“วันกาลกิณี” ไม่ดีอย่างไร ความหมายและกิจกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง
วันซี้ลี้ (四離) หรือวันกาลกิณี ในหนึ่งปีจะมี 4 วัน เป็นวันที่พลังอิมเอี๊ยง (หยินหยาง 陰陽) ไม่สมดุล ไม่ควรประกอบกิจมงคลต่างๆ เช่น แต่งงาน เปิดกิจการ เข้าบ้านใหม่ ฯลฯ เด็ดขาด
คนจีนโบราณมีการสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมาอย่างยาวนานเพื่อใช้ในการกำหนดช่วงเวลาเพาะปลูก จนเกิดเป็นปฏิทินชาวนาซึ่งแบ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทั้งปีเป็น 4 ฤดู 24 สารท โดยทางโหราศาสตร์จีนเชื่อว่าสภาพภูมิอากาศมีความสัมพันธ์กับพลังธาตุ นอกจากจะมีผลต่อการเพาะปลูกและการใช้ชีวิตแล้ว ยังมีผลต่อกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำให้สอดคล้องกับฤดูกาลด้วย โดยในวันที่สภาพอากาศแปรปรวนจนส่งผลต่อพลังธาตุนั้นมีสองแบบ คือ วันกาลกิณีกับวันอุบาทว์
วันกาลกิณี จะนับเป็น 1 วันก่อนเข้าสารท ดังนี้
- สารทกลางฤดูใบไม้ผลิ (ชุงฮุง 春分) – วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) เป็นวันที่เวลากลางวันยาวนานเท่ากับเวลากลางคืนพอดี
- สารทกลางฤดูร้อน (แฮจี่ 夏至) – ครีษมายัน (Summer Solstice) เป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี
- สารทกลางฤดูใบไม้ร่วง (ชิวฮุง 秋分) – ศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) เป็นวันที่เวลากลางวันยาวนานเท่ากับเวลากลางคืนพอดี
- สารทกลางฤดูหนาว (ตังจี่ 冬至) – เหมายัน (Winter Solstice) เป็นวันที่กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี
วันซี้เจ๊าะ (四絕) หรือวันอุบาทว์ ในหนึ่งปีจะมี 4 วัน เนื่องจากเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพื่อเข้าสู่ฤดูกาลทั้ง 4 จึงเป็นช่วงที่พลังธาตุในธรรมชาติแปรปรวน เมื่อเริ่มทำกิจกรรมสำคัญในวันนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่คงที่ จึงไม่ควรประกอบกิจมงคลต่างๆ เช่น แต่งงาน เปิดกิจการ เข้าบ้านใหม่ เซ็นสัญญา ฯลฯ เด็ดขาด
วันอุบาทว์ (四絕) โดยจะนับเป็น 1 วันก่อนเข้าสารท ดังนี้
- สารทเริ่มฤดูใบไม้ผลิ (หลิบชุง 立春)
- สารทเริ่มฤดูร้อน (หลิบแห่ 立夏)
- สารทเริ่มฤดูใบไม้ร่วง (หลิบชิว 立秋)
- สารทเริ่มฤดูหนาว (หลิบตัง 立冬)
ในปฏิทินจีนน่ำเอี๊ยงจะมีเนื้อหาระบุวันและเวลามงคลและกาลกิณีเป็นประจำในแต่ละปี หรือหากท่านใดอยากเข้าถึงข้อมูลรูปแบบภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ Num Eiang Astrolendar, ปฏิทินมงคลน่ำเอี๊ยง คลิก https://qrcodes.pro/zTwlwK