ลอยกระทง ความเป็นมาการให้ความเคารพและบูชาสายน้ำ
วันลอยกระทง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
ต้นกำเนิด ลอยกระทง
ลอยกระทง เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขอขมาธรรมชาติ ซึ่งมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ดึกดำบรรพ์และแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือดินแดนสุวรรณภูมิ โดยไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าการ “ลอยกระทง” เริ่มต้นมีมาตั้งแต่ช่วงใด แต่ประเพณีนี้จะเกี่ยวข้องกับการบูชา “ผี” หรือ “วิญญาณ” ตามความเชื่อของชาวสุวรรณภูมิในสมัยโบราณ นั่นคือ “ผีน้ำ” และ “ผีดิน” แต่เมื่อรับเอาอิทธิพลทางด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาจากทางฝั่งอินเดีย การบูชาผีนี้จึงกลายมาเป็นการบูชาเทพเจ้าซึ่งก็คือ “พระแม่คงคา” และ “พระแม่ธรณี” แทน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอขมาที่ได้ล่วงเกินและเป็นการขอบคุณพระแม่ที่ช่วยดูแลปกปักษ์สายน้ำ ให้ได้มีน้ำเอาไว้สำหรับใช้สอยและทำการเกษตร
ลอยกระทงไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ประเพณีการลอยกระทงของไทยนั้น มีปรากฏอยู่ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัย โดยไม่ได้ใช้คำว่า “ลอยกระทง” แต่เรียกประเพณีนี้ว่า “เผาเทียน เล่นไฟ” เป็นประเพณีทำบุญไหว้พระโดยทั่วไป ส่วนในช่วงกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า “ลดชุดลอยโคมลงน้ำ” กระทั่งในช่วงยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในช่วงรัชกาลที่ 3 มีการปรากฏคำว่า “ลอยกระทง” ในพระราชพงศาวดารแผ่นดิน แล้วจึงได้เริ่มต้นใช้คำเรียกประเพณีการขอขมาน้ำว่า ประเพณีลอยกระทงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จีนไม่มีลอยกระทง แต่มีประเพณีบูชาสายน้ำ
เทศกาลเซี่ยหยวนเจี๋ย (下元节) บูชาเทพเจ้าแห่งสายน้ำ
สำหรับประเทศจีนเองก็มีประเพณีการบูชาสายน้ำด้วยเช่นกัน ซึ่งเทศกาลนี้มีชื่อเรียกว่า “เทศกาลเซี่ยหยวนเจี๋ย” (下元节) เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของชาวจีนโบราณตามความเชื่อทางฝั่งของลัทธิเต๋า มีวัตถุประสงค์เพื่อขอขมาเทพเจ้าแห่งสายน้ำเหมือนกันกับประเพณีลอยกระทง จะตรงกับวันที่ 15 เดือน 10 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ในเทศกาลนี้จะมีการปล่อยโคมลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าหรือลอยประทีปลงในแม่น้ำ เสมือนการบอกกล่าวและบูชาเทพเจ้าแห่งน้ำ นอกจากนั้นแล้วยังมีความเชื่อคล้ายคลึงกับทางฝั่งชาวไทยในช่วงวันลอยกระทงอีก นั่นก็คือ การปล่อยโคมหรือลอยประทีปจะเป็นการนำสิ่งไม่ดีออกจากตัวให้ลอยไปพร้อมกับสายน้ำ
ปัจจุบันเทศกาลเซี่ยหยวนเจี๋ยเริ่มมีความนิยมลดน้อยลง ดังนั้นจึงถูกลดบทบาทให้เป็นเพียงเทศกาลท้องถิ่นประจำเมืองที่ยังคงความเชื่อและนับถือลัทธิเต๋าเพียงเท่านั้น
เทพเจ้าผู้คุ้มครองสายน้ำ ตามความเชื่อของไทยและจีน
พระแม่คงคา
พระแม่คงคา เป็นเทวีแห่งสายน้ำในศาสนาฮินดู ที่จะทำหน้าที่ปกปักษ์รักษาสายน้ำ ตามความเชื่อของทางฝั่งอินเดียซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาฮินดู เชื่อว่านอกจากพระแม่คงคาจะเป็นผู้ที่แลสายน้ำแล้วการลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคายังเป็นการช่วยคลายคำสาปหรือชำระล้างสิ่งไม่ดีออกจากตัว
ส่วนในประเทศไทยนั้น การบูชาและขอขมาพระแม่คงคา ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในประวัติความเป็นมาของประเพณีลอยกระทง ว่ามีที่มาจากการเข้ามาในประเทศของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงทำให้ความเชื่อในการบูชาผีเปลี่ยนไปกลายเป็นการบูชาเทพเจ้าอย่างพระแม่คงคาแทน
สุ่ยกวนต้าตี้ (水官大帝)
เทพสุ่ยกวน เป็นหนึ่งใน 3 เทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในลัทธิเต๋า ซึ่งเรียกรวมกันว่าเทพซานกวน หรือ ซานกวนต้าตี้ (三官大帝) อันประกอบด้วย
เทพเทียนกวน (天官大帝) เทพเจ้าแห่งท้องฟ้า ทำหน้าดูแลความสงบของสวรรค์ทั้งยัง
ถือเป็นเทพเทพเจ้าแห่งโชคลาภ และในทุกวันขึ้น 15 เดือนที่ 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ชาวจีนเชื่อว่าเทพเทียนกวนจะลงมายังโลกมนุษย์เพื่อดูว่ามนุษย์คนใดบ้างที่ทำความดี และประทานพรแห่งโชคลาภให้
เทพตี้กวน (地官大帝) เทพเจ้าแห่งดิน เป็นเทพเจ้าที่มีหน้าที่ดูแลผืนดิน ซึ่งก็คือโลก
-มนุษย์ นอกจากนั้นแล้วเทพตี้กวนยังเป็นเทพเจ้าที่ช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้แก่มนุษย์ ตามความเชื่อในทางลัทธิเต๋าจะนิยมบูชาเทพตี้กวนช่วงวันสารทจีน เพราะเชื่อว่าท่านจะช่วยดูแลให้ปลอดภัยจากวิญญาณร้ายที่ออกมารับส่วนบุญในวันนี้
เทพสุ่ยกวน (水官大帝) เทพเจ้าแห่งผืนน้ำ ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของผืนน้ำ
บนโลกมนุษย์และยังมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในโลกหลังความตายอีกด้วย เทพสุ่ยกวนจะลงมายังโลกมนุษย์ ในวันที่ 15 เดือน 10 ตามปฏิทินจันทรคติจีน เพื่อมอบพรให้แก่มนุษย์ ดังนั้นจึงทำให้วันนี้มีการจัดเทศกาลเซี่ยหยวนเจี๋ย (下元节) เพื่อบูชาเทพเจ้าสุ่ยกวน
เจ้าแม่ทับทิม
เจ้าแม่ทับทิม หรือ เจ้าแม่มาจู่ เป็นเทพเจ้าที่นับถือกันในหมู่ชาวจีนฮกเกี้ยน ก่อนจะได้รับความนิยมและแพร่หลายไปทั่วจีนรวมถึงทั่วโลก เจ้าแม่ทับทิมเป็นเทพเจ้าที่คุ้มครองในเรื่องของการเดินทาง ในสมัยโบราณผู้คนต้องสัญจรโดยเรือเป็นส่วนใหญ่ จึงได้มีการบูชาเจ้าแม่ให้เป็นแม่ย่านางประจำเรือ เพราะเชื่อว่าเจ้าแม่จะช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัย รวมทั้งยังมีการบูชาในหมู่ของชาวประมงเพื่อให้เจ้าแม่ช่วยคุ้มครองดูแลในระหว่างที่เดินทางออกหาปลาในทะเล
วันเพ็ญเดือน 12 ฤกษ์แต่งงานปลายปี บรรยากาศดี ชมจันทร์เต็มดวง
ในช่วงวันลอยกระทง จะตรงกับเดือน 12 ของไทยและอยู่ในช่วงปลายปี เป็นช่วงที่อากาศเริ่มเย็นลง ทั้งยังเป็นช่วงที่ฟ้าฝนสงบ จึงเหมาะเป็นอย่างมากที่จะจัดงานแต่งงานในช่วงนี้ สำหรับบ่าว-สาวที่ต้องการชมจันทร์เต็มดวงพร้อมลอยกระทงให้เป็นมงคลในวันแต่งงาน ต้องเริ่มต้นวางฤกษ์ยามเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
การหาฤกษ์ยามเพื่องานมงคลนั้น ควรพิจารณาจากผู้ที่ชำนาญในด้านนี้ซึ่ง น่ำเอี๊ยง คือผู้เชี่ยวชาญในการหาฤกษ์แต่งงานให้กับเจ้าบ่าว เจ้าสาว มาหลายคู่ จึงมั่นใจได้ว่างานแต่งงานของท่านจะได้ฤกษ์แต่งงานที่ดีที่สุด ผ่านการคำนวณอย่างพิถีพิถันตามแบบโหราศาสตร์จีน