วันพืชมงคล – คำพยากรณ์การเกษตรปีมะโรง

รูปชาวนาจูงวัวในหน้าแรกของปฏิทินและตำราน่ำเอี๊ยง

วันพืชมงคลปี 2567 นี้ ตรงกับ วันที่ 10 พฤษภาคม 2568

ที่มา
ประเทศในแถบเอเชียมีวัฒนธรรมการทาน “ข้าว” เป็นอาหารหลัก จึงให้ความสำคัญกับการทำนาเป็นอย่างมาก เราสามารถพบเห็นประเพณีการแรกนาขวัญได้ในหลายประเทศ เช่น ไทย จีน เมียนมาร์ เวียดนาม ซึ่งถือเป็นประเพณีศักดิ์สิทธ์เคียงคู่เกษตรกร เพื่อสร้างความสิริมงคลและเสริมขวัญกำลังใจให้เกษตรกรว่าการทำนาจะได้ผลผลิตดีและอุดมสมบูรณ์ก่อนเริ่มทำการเพาะปลูก

พิธีแรกนาขวัญ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ว่า “การแรกนาที่ต้องเปนธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เช่นในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหษีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฎอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเปนนิจไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา…”

พระเจ้าแผ่นดินจีนที่ทรงกล่าวถึงคือหวงตี้ (黃帝) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มอารยธรรมจีน ส่วนพระมเหสีคือเหลยจู่ (嫘祖) ผู้คิดค้นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและสอนให้ราษฎรทำเครื่องนุ่งห่ม คตินี้ถูกสืบต่อมาถึงยุคหลังเกิดเป็นพิธีไถนาก่อนการเพาะปลูกช่วงฤดูใบไม้ผลิของจีนที่เรียกว่า ชินเกิงจี๋เถียน (耤田親耕) เพื่อเป็นสัญญาณว่า ถึงฤดูกาลแห่งการทำนาแล้ว โดยฮ่องเต้จะประคองคันไถเทียมวัวหรือควายไถพรวนดินและโปรยหว่านเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกร โดยมีขุนนางเป็นผู้ติดตามในการประกอบพิธี นับเป็นการแสดงให้เห็นว่าฮ่องเต้ทรงให้ความสำคัญกับการเกษตรอันเป็นรากฐานความมั่นคงด้านอาหารของแผ่นดิน

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พิธีแรกนาขวัญนับเป็นประเพณีร่วมในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ประเทศเวียดนาม ในทุกๆ ต้นฤดูใบไม้ผลิ จะมีการคัดเลือกผู้ทำพิธีจากหลายๆ หมู่บ้านเพื่อบนบานขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล การเก็บเกี่ยวได้ผลดี จากนั้นจะเริ่มไถนาอันเป็นสัญญาณเริ่มต้นฤดูปลูกข้าวใหม่ ส่วนในประเทศไทย แบ่งเป็นพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์ จึงเรียกรวมๆ กันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” มีการคัดเลือกพระยาแรกนา เทพีหาบเงินหาบทองเพื่อประกอบพิธี โดยมีพระมหากษัตริย์เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเป็นประจำทุกปี ดังนั้นจุดมุ่งหมายของพิธีนี้ล้วนเป็นการให้กำลังใจแก่เกษตรกรเพื่อความอิ่มหนำสมบูรณ์ของประชาชนและความสงบสุขของประเทศ แม้ปัจจุบันสังคมทุนนิยมเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น ทว่าการเกษตรต่างๆ โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าวยังคงมีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศทุกยุคทุกสมัยไม่เสื่อมคลาย

รูปชาวนาจูงวัวในหน้าแรกของปฏิทินและตำราน่ำเอี๊ยง

พยากรณ์การเกษตรสำหรับปีมะโรง (甲辰) 2567

1.รองเท้าของชาวนา
ชาวนาใส่รองเท้า ทำนายว่าปีนี้จะแล้ง ฝนน้อย ดินแห้ง ควรกักเก็บน้ำไว้มากๆ

2.ตำแหน่งชาวนา
ชาวนาอยู่ทางด้านขวา แสดงว่าปีนั้นเป็นธาตุหยาง

3.ตำแหน่งวัว
วัวอยู่หลังชาวนา แปลว่า วันเปลี่ยนสารทลิบชุน 立春 (เริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ) อยู่ก่อนวันตรุษจีน

4.จำนวนรวงข้าว
จำนวนและขนาดรวงข้าวสามารถพยากรณ์ผลผลิตทางการเกษตรได้คร่าว ๆ
ปีนี้มีข้าว 2 รวง ทำนายว่าจะได้ผลผลิตน้อย

คำทำนายการเกษตรประจำปีมะโรง 2567

แปลคำกลอนฝั่งซ้าย

年值甲辰運豐亨
和風甘雨及時行
無如龍少難兼顧
致令十地九不耕

สายลมและสายฝนมาทันท่วงที
เป็นการยากที่จะดูแลการเกษตรหลาย ๆ อย่าง
(การเกษตรในที่นี้จะครอบคลุมทั้งการเพาะปลูกและปศุสัตว์ เช่น ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกข้าว ปลูกผัก ทำสวน เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ฯลฯ) การเพาะปลูก 10 ส่วนไม่ได้ผลผลิตถึง 9 ส่วน

แปลคำกลอนฝั่งขวา

稻麥吳邦悲罕熟
蠶桑魯地喜敷榮
三冬猶幸霜雪足
早兆來秋可滿盈

ข้าวและข้าวสาลีไม่อุดมสมบูรณ์ในรัฐหวู่ (รัฐหวู่ คือพืนที่ทางใต้ของจีนในปัจจุบัน)
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในรัฐหลู่ได้ผลผลิตดีมาก (รัฐหลู่ คือพื้นที่ราบทางเหนือของจีนในปัจจุบัน)
สารทเหมันต์ 3 ช่วงเต็มไปด้วยหิมะและน้ำค้างแข็ง
สภาพอากาศส่งสัญญาณเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงเร็วกว่าปกติ

บทความล่าสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top