เทศกาลตรุษจีน หรือ ปีใหม่จีน เป็นหนึ่งในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอีกเทศกาลหนึ่ง โดยเทศกาลนี้จะอยู่ในช่วงวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีน
ทำความรู้จัก ตรุษจีน วันมงคลที่ชาวจีนให้ความสำคัญมากที่สุด
หากกล่าวถึงวันขึ้นปีใหม่ หลายคนก็จะนึกวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่สากลที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ แต่คงไม่ใช่สำหรับชาวจีน เพราะชาวจีนนั้นมีวันปีใหม่เป็นของตัวเองมาอย่างยาวนานร่วม 4 สหัสวรรษ (4,000ปี) ที่เรียกกันว่า “วันตรุษจีน”
สาเหตุที่ชาวจีนไม่ยึดถือเอาวันที่ 1 มกราคม ขึ้นมาเป็นวันปีใหม่นั้นก็มีที่มาจากการที่ เดิมทีแล้วประเทศจีน ไม่ได้มีการใช้ปฏิทินสุริยคติเหมือนกับประเทศทางฝั่งตะวันตก แต่ประเทศจีนนั้นใช้ปฏิทินที่มีการคิดค้นขึ้นมาเองภายในประเทศเรียกว่าปฏิทินจันทรคติจีน ทำให้วันที่ 1 เดือนมกราคม จะยังคงอยู่ในเดือนที่ 12 ตามปฏิทินหรือเรียกกันว่าเสียวฮั้ง (小寒) และเป็นช่วงฤดูหนาว อากาศมีความหนาวเย็น และเป็นช่วงการผสมพันธ์ของสัตว์นานาชนิดจึงไม่นิยมจัดงานเฉลิมฉลองกันเท่าใดนัก
พิธีการงานมงคลช่วงฤดูหนาวของชาวจีนก่อนถึงวันปีใหม่
แต่ในช่วง 15 วันสุดท้ายของปี หรือไต้ฮั้ง (大寒) ซึ่งแปลว่า ช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเป็นอย่างมาก ชาวจีนจะจัดกิจกรมมมงคล อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
การไหว้เทพเจ้าเตา ในวันที่ 24 เดือน 12 ตามปฏิทินจีน เพื่อความเป็นสิริมงคลของคนในครอบครัว และการทำความสะอาดซ่อมแซมบ้านเรือนให้เรียบร้อยรวมถึงเตรียมพร้อมจัดแจงของไหว้เพื่อรอรับวันปีใหม่ที่จะมาถึง ซึ่งก็คือ วันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจีนที่ถือเป็นการขึ้นฤดูกาลใหม่ อย่าง ฤดูใบไม้ผลิ
ตำนานตรุษจีน กำเนิดประเพณีตรุษจีนในปัจจุบัน
เหนียน (年) ปีศาจในตำนาน ที่มาของวันตรุษจีน
จุดเริ่มต้นของการกำเนิดวันตรุษจีน มีที่มาจากตำนานปกรนัม ซึ่งเกี่ยวข้องกับปีศาจร้ายอย่าง “เหนียน” ( 年 ) หรือ ตัวเหนียน เป็นปีศาจที่มีนิสัยดุร้ายอาศัยอยู่ในทะเลลึกและมักจะขึ้นมาจากใต้ทะเลเพื่อไล่จับมนุษย์กินเป็นอาหารในช่วงคืนวันสิ้นปี ก่อนจะกลับลงทะเลไปในวันปีใหม่ ทำให้ผู้คนหวาดกลัวจนต้องพากันไปซ่อนตัวในถ้ำเพื่อไม่ให้ถูกตัวเหนียนจับกิน บ้างก็ว่ามีการปิดบ้านมิดชิดแล้วร่วมกันกินอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวอย่างเงียบเชียบ
ที่มาของการจุดประทัดและสวมใส่สีแดงในวันตรุษจีน
จนวันหนึ่งมีชายชราคนหนึ่งหาทางกำจัดตัวเหนียนได้ โดยใช้สีแดงทากรอบประตูบ้านพร้อมทั้งสวมใส่เสื้อผ้าสีแดงสดและได้มีการจุดประทัดให้เกิดเสียงดัง เมื่อตัวเหนียนได้ยินเสียงของประทัดและมองเห็นสีแดงจึงเกิดตกใจกลัวขึ้นมาแล้ววิ่งหนีไป
วันแห่งการเฉลิมฉลองเพื่อความโชคดี
ในเช้าวันถัดมาชาวบ้านที่ออกมาจากถ้ำได้ทราบว่าชายชราสามารถขับไล่ตัวเหนียนไปได้ ก็ดีจนจนจัดงานเลี้ยงฉลองขึ้นอย่างยิ่งใหญ่มีการกล่าวอวยพรให้แก่กันและกันด้วยความยินดี นอกจากนั้นยังมีการจุดประทัดและสวมใส่สีแดงเพื่อต้อนรับโชคดีและขับไล่ความชั่วร้ายทั้งหลายในปีเก่าให้หมดไป
และนี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมในวันตรุษจีนจึงมีการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ และทำไมชาวจีนจึงถือว่าสีแดงเป็นสีที่นำพาความสุขรวมถึงโชคลาภให้มาเยือนพวกเขา
ประวัติศาสตร์และความสำคัญของเทศกาลตรุษจีน
ประวัติตรุษจีนตามบันทึกทางประวัติศาสตร์
ต้นกำเนิดของตรุษจีนตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีมาอย่างยาวนานกว่า 4 สหัสวรรษ โดยที่ไม่สามารถระบุได้ว่าประเพณีนี้เริ่มมาตั้งแต่ในยุคสมัยของราชวงศ์ใด วันตรุษจีนนั้น เดิมทีเป็นการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านฤดูกาล จากฤดูหนาวเข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า ลิบชุง (立春) ตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติของทางจีน หากเป็นคนในราชสำนัก ก็จะมีการไปไหว้รับเทพเจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิที่ประตูเมืองทางทิศตะวันออก ส่วนชาวบ้านทั่วไปก็จะมีการไปไหว้เจ้าและบรรพบุรุษเพื่อแสดงความกตัญญูตามคติและความเชื่อที่ชาวจีนยึดถือกันมา
ตรุษจีนไม่ใช่แค่วันขึ้นปีใหม่ แต่เป็นเทศกาลสำคัญของชาวนา
นอกจากนั้นแล้วในช่วงสารทลิบชุงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่เพิ่งพ้นหนาว อากาศแม้เริ่มอบอุ่นแต่ยังไม่ได้อุ่นมากนัก ทำให้เกษตรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำการเกษตรเพาะปลูกพืชได้ จึงได้มีการพักผ่อน อยู่กันพร้อมหน้าร่วมกับครอบครัวรอให้อากาศอบอุ่นขึ้นมากกว่านี้เสียก่อน เป็นระยะเวลายาวนานถึง 15 วัน และ ยังมีการไหว้เจ้าที่เรียกว่า “ง่วงเชียว” เป็นการไหว้ขอพรให้ทำการเกษตรเพาะปลูกได้ผลผลิตมากขึ้น และให้พืชในสวนไร่นาเติบโตอุดมสมบูรณ์ ทำให้เทศกาลนี้มีชื่อเรียกกันอีกอย่างว่า “เทศกาลชาวนา”
วันสำคัญในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น ไม่ใช่แค่เพียง “วันตรุษจีน” วันเดียวเท่านั้น แต่ยังมีวันสำคัญที่อยู่ในช่วงเทศกาลนี้อีก 3 วันด้วยกันโดยเริ่มตั้งแต่
วันจ่าย เป็นวันสิ้นปีก่อนถึงวันตรุษจีน จะเป็นวันที่ผู้คนต้องออกไปซื้อสิ่งของ ตระเตรียมอาหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหารคาว อาหารหวาน หรือผลไม้ สำหรับนำมาไหว้เจ้าและบรรพบุรุษในวันตรุษจีนต่อไป
วันไหว้ เป็นวันที่จะมีการไหว้เทพเจ้ารวมไปถึงบรรพบุรุษของแต่ละครอบครัว
วันนี้จะมีการจัดโต๊ะทำพิธีไหว้ขอพรเทพเจ้าและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับให้ช่วยคุ้มครองและให้ลูกหลานพบเจอแต่ความสุขตลอดปี โดยมักจะไหว้กันในช่วงเช้าและช่วงสายของวัน
วันเที่ยว เป็นวันขึ้นปีใหม่ที่ชาวจีนจะอยู่บ้านหรือออกไปเที่ยวเพื่อเฉลิมฉลองกับครอบครัว ในวันนี้จะมีการจัดกิจกรรมอันเป็นมงคล เช่น การขอพรกับผู้ใหญ่ การทานข้าวเฉลิมฉลองพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว โดยจะมีการจุดประทัดและแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีแดงเพื่อต้อนรับสิ่งดี ๆ ให้เข้ามาในช่วงปีใหม่
สัญลักษณ์มงคลวันตรุษจีน
1. อั่งเปา
อั่งเปา เรียกว่าได้เป็นเงินขวัญถุงที่มาในซองสีแดงเขียนคำอวยพรด้วยอักษรมงคลเอาไว้ ซึ่งเด็ก ๆ จะได้รับจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เป็นเสมือนการอวยพร ให้พบเจอแต่เรื่องดี ๆและมีแต่ความร่ำรวยตลอดทั้งปี แล้วเด็ก ๆ ก็จะมีการกล่าวคำอวยพรให้กับผู้ใหญ่ โดยการพูดว่า “ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ” (新正如意 新年发财) หรือออกเสียงแบบฝั่งแต้จิ๋วคนไทยเชื้อสายจีนได้ยินติดหูเป็นประจำว่า “ซินเจียยู่อี๋ ซินนี้ฮวดไช้” ที่แปลว่า ขอให้ปีใหม่นี้สมปรารถนาในทุกสิ่ง มั่งคั่งร่ำรวย อยู่ดีมีสุข
2. สีแดง
สีแดง เป็นสีมงคลของชาวจีน เมื่อถึงงานมงคลชาวจีนจะเลือกเครื่องแต่งกายหรือสิ่งของเครื่องใช้เป็นสีแดง เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง เชื่อว่าหากสวมใส่เครื่องแต่งกายสีแดงในวันตรุษจีนแล้วจะทำให้พบเจอแต่ความโชคดี สุขสดใสตลอดปี
3. ส้ม
ส้ม คือหนึ่งในผลไม้มงคลของชาวจีนที่นิยมมอบให้กันในช่วงเวลาสำคัญ การให้ส้มในวันตรุษจีนนั้นมีความหมายคือ ขอให้สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อีกทั้งในภาษาจีน คำว่า “ส้ม” ยังพ้องเสียงกับคำว่า “ความสุข” และ “โชคลาภ” อีกด้วย
ชาวจีนจึงนิยมนำส้มมาไหว้บรรพบุรุษเพื่อขอให้พบเจอแต่ความสุขและมีโชคภาภ เช่นเดียวกันกับที่ได้มีการนำเอาส้มมามอบให้เป็นของตอบแทนแก่ญาติผู้ใหญ่ในวันตรุษจีนเป็นประจำ เพราะเปรียบเสมือนการนำเอาความสุขและโชคลาภมามอบให้ถึงที่บ้าน
4. ประทัด
การจุดประทัดในวันตรุษจีน เป็นการขับไล่สิ่งไม่ดีในปีก่อน ๆ ให้หลุดพ้นออกไป ทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองเรียกโชคลาภในปีใหม่ ชาวจีนจึงนิยมจุดประทัดในวันตรุษจีน แต่ทั้งนี้ก็มีข้อความระวังในการจุดด้วยเช่นกัน คือ ไม่ควรจุดมากจนเกินไปและควรเลือกช่วงเวลารวมถึงสถานที่ในการจุดประทัดให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่ไปรบกวนหรือสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง
ตรุษจีน 2567 ช่วงหาฤกษ์ดีเหมาะจัดงานมงคล
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น ว่าช่วงเทศกาลตรุษจีน เป็นหนึ่งในช่วงเวลาแห่งความมงคล ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากอากง อาม่า จะบอกให้ลูกหลานหาฤกษ์ยามงามในช่วงตรุษจีนเอาไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อเตรียมตัวเลือกวันมงคลหลังตรุษจีน
โดยมักจะให้หาฤกษ์กับซินแสตามสำนักโหราศาสตร์ที่ท่านนับถือ และหนึ่งในสำนักโหราศาสตร์ที่อากง อาม่า มักจะแนะนำให้ลูกหลานมาหาฤกษ์มงคล ทั้งฤกษ์เปิดกิจการร้านค้า ฤกษ์มงคลสมรส ฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ นั่นก็คือ สำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง ที่โดดเด่นเรื่องการคำนวณหาฤกษ์ยามด้วยโหราศาสตร์แบบจีนจากซินแสผู้ชำนาญการ และเปิดให้บริการมาอย่างยาวนานกว่า 80 ปี อีกทั้งยังเป็นต้นตำหรับปฏิทินจีนน่ำเอี๊ยง ปฏิทินจีนคู่บ้านคนไทย