สารทจีน บรรพบุรุษกลับมาเยี่ยมลูกหลาน พร้อมเปิดเส้นทางทัวร์นรกตามความเชื่อชาวจีน

วันสารทจีน หรือ ตงง้วงโจ่ย เป็นเทศกาลรำลึกถึงวิญญาณบรรพบุรุษจะจัดขึ้นวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน วันสารทจีนเป็นวันที่มีประวัติความเป็นมา รวมถึงตำนานเรื่องเล่าและประเณีที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ประวัติที่มา ตำนานความเชื่อ เทศกาลสารทจีน

ประวัติวันสารทจีน
ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ เทศกาลสารทจีน มีที่มาจากการไหว้บรรพบุรุษประจำฤดูใบไม้ร่วงที่เรียกกันว่าฤดูชู้สู้ (處暑) ซึ่งเป็นฤดูกาลย่อยหนึ่งใน 24 ฤดูกาลของประเทศจีน โดยมีการกำหนดเอาวันที่ 15 เดือน 7 เป็นวันสำหรับจัดพิธีการไหว้บรรพบุรุษ คาดว่าพิธีการไหว้นี้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฉิน หรือราวช่วง2,100 ปีก่อนคริสตกาล เดิมทีการไหว้บรรพบุรุษนี้จะจัดขึ้นเฉพาะภายในวังหลวงเป็นธรรมเนียมประจำปีของเชื้อพระวงศ์และขุนนางชั้นสูงเท่านั้น ก่อนที่จะมีการแพร่หลายออกไปสู่ผู้คนภายนอกวังหลวง จนเกิดเป็นธรรมเนียม สารทการไหว้บรรพบุรุษ ที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

จากการไหว้บรรพบุรุษ สู่การไหว้ผีไม่มีญาติ
การปรับเปลี่ยนธรรมเนียมการไหว้สารทจีนให้เป็นเทศกาลเซ่นไหว้วิญญาณไร้ญาติ จากเดิมทีที่เป็นการไหว้ฤดูใบไม้ร่วงเพื่อแสดงความกตัญญูและขอพรกับบรรพบุรุษนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่ลัทธิเต๋ามีความรุ่งเรืองไปจนกระทั่งถึงช่วงของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ตามอิทธิพลทางด้านความเชื่อที่เชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนา ที่ว่าด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศล

ตำนานสารทจีน
นอกจากความเป็นมาทางด้านประวัติศาสตร์แล้ว สารทจีน ยังมีความเป็นมาจากตำนานเรื่องเล่าทั้งหมด 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

ตำนานการอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณร้าย
ตามความเชื่อของชาวจีนเกี่ยวกับเรื่องของโลกหลังความตาย วิญญาณจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 ประเภท คือวิญญาณดีและวิญญาณที่ทำบาปหนัก วิญญาณดีจะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีหรือเมื่อตายก็จะได้ไปอยู่ที่แดนสุขาวดี ดินแดนตามความเชื่อของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน อันที่ประทับของพระโพธิสัตว์กวนอิม แต่วิญญาณที่ทำบาปหนักต้องทนทุกข์ทรมานรับกรรมอยู่ในนรกภูมิ พบเจอกับอดอยาก หิวโหย ทำให้ชาวจีนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเกิดความสงสาร จึงพากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ในช่วงวันสารทจีน และเงี่ยมล้อเทียนจื่อหรือยมบาลจะทำการเปิดประตูนรกให้วิญญาณเหล่านั้นออกมารับส่วนบุญส่วนกุศลยังโลกมนุษย์

ตำนานมู่เหลียนยอดกตัญญู
ส่วนอีกตำนานมีความเชื่อมโยงกับอัครสาวกของพระพุทธเจ้า นั่นก็คือ “พระโมคคัลลานะ” หรือ “มู่เหลียน”
ผู้เป็นพุทธมามะกะเลื่อมใสศรัทธาในพระธรรม แต่กลับมีมารดาเป็นคนใจบาปหยาบช้า ก่อกรรมหนักด้วยการล่อลวงให้ผู้ถือศีลกิจเจทานอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์(น้ำมันหมู) เมื่อตายไปผลกรรมจึงทำให้ต้องไปเกิดในนรกเพื่อชดใช้กรรม วันหนึ่งมู่เหลียนได้ถอดจิตลงไปยังนรกเพื่อเยี่ยมมารดาแล้วจึงได้พบว่ามารดากำลังทรมานเพราะความหิวโหย จึงได้ป้อนข้าวให้แก่มารดาประทังความหิว แต่เมื่อข้าวแตะริมฝีปากของมารดากลับลุกไหม้กลายเป็นผุยผงทั้งยังทำให้ริมฝีปากของมารดาพุพองอันเป็นผลมาจากกรรมที่ได้กระทำลงไปเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ด้วยความสงสารมู่เหลียนจึงขอรับกรรมแทนมารดา ในช่วงเวลานั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จลงมาโปรดสัตว์พอดี จึงได้ช่วยเหลือมู่เหลี่ยนด้วยการมอบคัมภีร์อิ๋วหลันเผิน (盂蘭盆) ให้มู่เหลี่ยนสวดเชิญเซียนลงมาโปรดมารดา และเพื่อไม่ให้มารดาต้องอดอยากพระพุทธองค์ได้บอกให้หมู่เหลียนทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับมารดาในช่วงเดือน 7 ซึ่งเป็นช่วงที่ยมบาลจะเปิดประตูนรกให้วิญญาณออกมารับส่วนบุญส่วนกุศล จึงก่อให้เกิดเป็นประเพณีสารทจีน ที่ลูกหลานจะมาแสดงความกตัญญูด้วยการเซ่นไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

เปิดเส้นทางทัวร์นรก ประจำวันสารทจีน

ตามตำนานความเป็นมาของวันสารทจีน จะมีการกล่าวถึงนรกภูมิตามความเชื่อของชาวจีน ซึ่งนรกตามคติความเชื่อของชาวจีนนั้นก็จะมีความแตกต่างกันกับนรกในทางพระพุทธศาสนาที่ชาวไทยคุ้นเคย
ในนรกตามพระพุทธศาสนาของทางฝั่งจีนนั้น จะมีด้วยการทั้งหมด 10 ขุม

นรกขุมที่ 1
เมื่อตายไปดวงวิญญาณจะเดินทางไปยังนรกขุมนี้ก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้ ชิงก้วงอ๋อง ผู้เป็นเจ้ายมบาลแห่งนรกขุมที่1 ทำการเปิดบัญชีตรวจสอบรายชื่อบุญ-บาปที่ดวงวิญญาณได้กระทำ ถ้าทำดีจะได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าทำบาปหนักจะต้องไปใช้กรรมต่อในนรกขุมที่2-9 แต่ถ้ากรรมที่กระทำไม่ดีหริอไม่ชั่วเกินไปจะได้ไปนรกขุมที่10 เพื่อเวียนว่ายตายเกิดใหม่

นรกขุมที่ 2
เจ้ายมบาลที่คุมนรกขุมนี้คือ ฉอกังอ๊วง จะทำหน้าที่หาหลักฐานมาลงโทษวิญญาณที่ไม่ยอมรับผิด แล้วนำไปลงโทษด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ โยนลงไปในสระน้ำที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลเน่าเหม็น โยนลงในบ่อน้ำที่หนาวเหน็บ ให้เดินเข้าไปในป่าที่กิ่งก้านของต้นไม้ทำมาจากดาบ

นรกขุมที่ 3
เป็นนรกที่ใช้ลงโทษดวงวิญญาณที่ชอบประพฤติผิดในธรรมนองคลองธรรม ดูถูกเหยียดหยามและพูดจาแทะโลมหรือให้ร้ายผู้อื่น เจ้านรกคือ ซ่งตี่อ๊วง จะทำการลงโทษด้วยการทรมานอย่างโหดร้ายไม่ว่าจะเป็น ควักลูกตา ใช้เหล็กแหลมขูดใบหน้าและแขวนให้หัวทิ่มลงมา

นรกขุมที่4
นรกขุมที่ 4 จะใช้สำหรับลงโทษวิญญาณที่เคยกระทำผิดเกี่ยวกับการใช้สิ่งเสพติด การพูดไม่ดีหรือนินทาว่าร้ายผู้อื่นรวมถึงแอบอ้างเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปหลอกฉ้อโกงผู้คน โดยนรกขุมที่4นี้ จะมีเจ้านรกอย่าง โหงวกัวอ๊อง เป็นผู้ดูแล

นรกขุมที่ 5
นรกขุมที่ 5 ใช้ลงโทษดวงวิญญาณที่มีจิตใจอาฆาตริษา อกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ มีใจคิดคตเต็มไปด้วยอธรรม วิญญาณเหล่านี้เมื่ออยู่ในนรกขุมที่ 5 จะถูกลงโทษด้วยการแหวกอก ซึ่งเจ้าผู้คุมนรกก็คือ เหงี่ยมหล่ออ๊วง

นรกขุมที่6
มี เปียงเซี่ยอ๊วง เป็นเจ้าผู้คุม นรกขุมนี้มีเอาไว้ลงโทษผู้ประพฤติผิดในกาม รวมถึงข้าราชการที่ประพฤติมิชอบทำการทุจริตโกงกินบ้านเมืองอันเป็นเหตุให้ราษฎรเกิดความทุกข์ร้อน

นรกขุมที่ 7
ใช้ลงโทษดวงวิญญาณที่ชอบมั่วสุมเสพอบายมุข เปิดบ่อนการพนัน ก่อเหตุทะเลาะวิวาททำตัวเป็นอันธพาลคอยระรานผู้อื่นไปทั่ว โดยเจ้าผู้คุมนรกขุมนี้มีชื่อว่า ไท้ซัวอ๊วง

นรกขุมที่ 8
นรกขุมนี้จะใช้ลงโทษผู้ที่ชอบเข่นฆ่าผู้อื่น ทำร้ายทรมานเห็นชีวิตของผู้อื่นเป็นผักปลา อกตัญญูไม่รู้คุณบิดามารดาที่เลี้ยงดู และประกอบอาชีพไม่สุจริตตามคลองธรรมอันดีงาม นรกขุมที่8 เป็นนรกขุมเกือบสุดท้ายที่เหลือวิญญาณบาปเอาไว้น้อยแล้ว มีผู้คุมนรกคือ โตวฉีอ๊วง

นรกขุมที่ 9
นรกขุมนี้ มีอีกชื่อที่เรียกกันว่า “นรกแห่งความเสมอภาค” โดยเจ้าผู้คุมนรกอย่าง เผ่งเต๊งอ๊วง จะไม่ทำการทรมานดวงวิญญาณที่ตกจากนรกขุมที่ 2-8 ต่อเพราะเห็นว่าได้รับการลงโทษมามากพอแล้ว เว้นเสียแต่ว่าจะมีดวงวิญญาณที่ได้กระทำความผิดอื่น ๆ ถูกตัดสินให้มาชดใช้กรรมในนรกขุมที่ 9 จึงจะทำการลงโทษต่อไป

นรกขุมที่ 10
นรกขุมสุดท้าย ที่มี จ้วงหลุ๊งอ๊วง เป็นผู้ควบคุมดูแล นรกขุมที่10จะทำหน้าที่ในการรับเอาดวงวิญญาณที่ถูกลงโทษจากนรกทั้ง9ขุม มารวมไว้ที่นี่เพื่อตัดสินว่าจะให้ไปเกิดใหม่หรือชดใช้กรรมในนรกต่อ โดยดวงวิญญาณที่จะได้ไปเกิดใหม่จะต้องดื่ม “น้ำชาทิพย์” หรือ “น้ำแกงยายเมิ่ง” เพื่อลบความทรงจำในอดีตชาติ แล้วจึงไป “สุ่มหมุนกงล้อชีวิต”ว่าในชาติต่อไปจะได้ไปเกิดเป็นอะไร

ประเพณีสำคัญวันสารทจีน

ประเพณีการไหว้บรรพบุรุษ
ประเพณีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ชาวจีนเชื่อว่าในช่วงเทศกาลสารทจีน เป็นวันที่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะได้กลับมายังโลกมนุษย์และบรรพบุรุษก็ได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมลูกหลาน ลูกหลานจึงต้องมีการเตรียมอาหารคาวหวาน ผลไม้ หรืออาหารที่บรรพบุรุษชื่นชอบเมื่อครั้งยังมีชีวิตเอาไว้ให้ โดยจะทำพิธีไหว้บรรพบุรุษในช่วงเช้าของวันสารทจีน และจะทำพิธีไหว้ไป๋อ๊อเฮียตี๋ หรือ วิญญาณไร้ญาติในช่วงบ่าย เพราะเชื่อว่าเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับวิญญาณที่หิวโหย นอกจากนั้นแล้วการไหว้ไป๋ฮ๊อเฮียตี๋ ยังเชื่อว่าจะช่วยนำพาโชคลาภมาสู่กิจการ

ประเพณีเทกระจาด วันสารทจีน
ประเพณีเทกระจาด หรือบางที่ก็เรียก ประเพณีทิ้งกระจาด เป็นประเพณีที่มีการสืบทอดกันมาและอยู่คู่กับวันสารทจีนอย่างยาวนาน เป็นประเพณีทำบุญให้กับวิญญาณไร้ญาติตามความเชื่อ โดยจะมีการสวดมนต์ นำหุ่นฟาง(ในปัจจุบันนิยมใช้หุ่นกระดาษ)ทำเป็นรูปยมบาลมาเผาพร้อมกระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อให้วิญญาณไร้ญาติได้มีของใช้เงินทอง รวมถึงอาหารติดตัวกลับไปยังนรกภูมิ นอกจากนั้นแล้วในประเพณีทิ้งกระจาดตามมูลนิธิหรือวัดจีนหลายแห่งก็จะมีการบริจาคทานช่วยเหลือคนยากไร้ ด้วยการมอบอาหารรวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ให้

ข้อห้ามสำคัญวันสารทจีน ที่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด

1. ห้ามว่ายน้ำในเวลากลางคืน สาเหตุที่คนจีนห้ามไม่ให้ว่ายน้ำในเวลากลางคืนช่วงสารทจีน เป็นเพราะว่าในประเทศจีน สารทจีนจะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเริ่มมีความหนาวเย็น น้ำในแม่น้ำตอนกลางคืนเองก็เย็นจัด หากลงไปว่ายอาจทำให้เป็นตะคริวจนเกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต

​2. ห้ามจัดงานแต่งงาน หรือ งานมงคลสำคัญ ในช่วงสารทจีนเป็นเทศกาลการไหว้ “ผี” ไม่เหมาะที่จะจัดงานรื่นเริงสังสรรค์ของคนเป็น เพราะคนจีนเชื่อว่าจะทำให้เกิดความอัปมงคล ดังนั้นเมื่อคนจีนต้องการจัดงานมงคลหรืองานแต่งงาน ก็จะดูฤกษ์ยามงามดีเอาไว้ก่อนเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ

3. ห้ามรื้อถอน ต่อเติม ซ่อมแซมบ้าน การรื้อถอนหรือซ่อมแซมบ้านในช่วงสารทจีน จะทำให้เกิดเสียงดังหนวกหู ทำให้บ้านไม่สงบและเชื่อว่ายังเป็นการไปรบกวนเหล่าบรรพบุรุษที่เดินทางจากโลกแห่งความตายกลับมาเยี่ยมลูกหลานที่บ้าน ชาวจีนจึงเคร่งเรื่องนี้เป็นอย่างมาก หากอยากต่อเติมบ้านหรือทำการซ่อมแซมจึงมักจะมีการให้สำนักโหราศาสตร์ช่วยหาฤกษ์ดีให้ ซึ่งน่ำเอี๊ยงเองก็เป็นหนึ่งในสำนักโหราศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูฤกษ์ยามหาวันดีสำหรับการซ่อมแซมบ้านเช่นกัน

​4. ห้ามออกจากบ้านหลังเที่ยงคืน ชาวจีนมักจะห้ามไม่ให้คนในบ้านออกจากบ้านหลังเที่ยงคืน เพราะเชื่อว่าการออกไปเดินนอกบ้านในเวลาดึกสงัดของคืนวันสารทจีน อาจทำให้พบเจอกับวิญญาณที่ออกมาเดินเที่ยวเล่น ดื่มกินเครื่องเซ่นตามท้องถนนได้ ทั้งนี้การห้ามไม่ให้ออกไปเดินนอกบ้านในเวลากลางดึก ก็เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน

น่ำเอี๊ยง ได้นำเอาสาระความรู้ดี ๆ ช่วงสารทจีนในเดือนสิงหาคม มาฝากกันแล้ว หากใครต้องการอ่านความรู้เกี่ยวกับเทศกาล ประเพณีวัฒธรรมจีน รวมทั้งความรู้ทางโหราศาสตร์จีนเพิ่มเติมจากน่ำเอี๊ยง สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ เกร็ดความรู้โหราศาสตร์และวัฒนธรรมจีน ที่รวบรวมบทความต่าง ๆ เอาไว้มากมาย

บทความล่าสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top