ค้นหาคำตอบความเชื่อโลกหลังความตาย ฉบับจีน ไทย และฝรั่ง

“สถานีต่อไปสวรรค์ ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังนรกได้ อยู่ที่การกระทำของผู้โดยสารเอง”

“Next station heaven, interchange with hell, depending upon what you are doing”

ถึงแม้ว่าประโยคพร้อมแปลภาษาอังกฤษข้างต้นจะเป็นการล้อเลียนเสียงประกาศบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ก็ตั้งอยู่บนความเป็นจริงที่ว่ามนุษย์จะขึ้นสวรรค์หรือชดใช้กรรมอยู่ในนรก ขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเอง ซึ่งนรกในแต่ละวัฒนธรรมก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน และผู้โดยสารก็สามารถเลือกได้ผ่านการนับถือศาสนาต่าง ๆ อย่างไรก็ดี บทความนี้นอกจากจะพาผู้อ่านทำความรู้จักนรกในวัฒนธรรมที่ต่างกันแล้ว จุดประสงค์ที่แท้จริงก็คือการชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ก็ล้วนแต่สอนให้มนุษย์รู้จักการเกรงกลัวต่อการทำความชั่วโดยหยิบยกมโนทัศน์เรื่องนรกมาเป็นเครื่องมือการสอนให้มนุษย์รู้จักทำความดี เพราะท้ายที่สุดแล้วมนุษย์โดยสัญชาติญาณแล้ว ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากที่สามารถทำให้มนุษย์คล้อยตามทำนองคลองธรรมได้ดียิ่งกว่าการบอกคุณประโยชน์ของสิ่งใด ๆ 

10 ขุมนรกและยมบาลทั้ง 10 ของจีน 

ชาวจีนมีความเชื่อว่า เขาไท่ซาน (泰山) เป็นจุดที่เชื่อมต่อระหว่างนรกและสวรรค์ อย่างไรก็ตามเดิมทีในวัฒนธรรมจีนโบราณนั้นยังไม่มีมโนทัศน์เรื่อง “นรก” มีเพียงแนวคิดเรื่องโลกหลังความตาย (幽冥) เท่านั้น แต่เมื่อพระพุทธศาสนาจากอินเดียเริ่มเข้าสู่ประเทศจีน จึงก่อให้เกิดแนวคิดเรื่องนรกขึ้นมาโดยมีพญายม (閻羅王) เป็นเจ้านรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดเรื่องนรกก็ได้หลอมรวมกับลัทธิเต๋า ขงจื่อและความเชื่อพื้นบ้านของจีน ทำให้จากที่มีพญายมเพียงองค์เดียว ก็ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 10 องค์และมีนรกเพิ่มขึ้นมาเป็น 10 ขุม ได้แก่ 

นรกขุมที่ 1: ฉินกวงหวัง (秦廣王) ทำหน้าที่ตรวจสอบบาปบุญคุณโทษ เพื่อตัดสินว่าควรไปเกิดหรือไม่ หรือควรชดใช้กรรมในนรกก่อน

นรกขุมที่ 2: ฉู่เจียงหวัง (楚江王) ทำหน้าที่หาหลักฐานมาลงโทษวิญญาณที่ไม่ยอมรับผิด

นรกขุมที่ 3: ซ่งตี้หวัง (宋帝王) ทำหน้าที่ลงโทษวิญญาณที่ประพฤติในทำนองคลองธรรม พูดจาให้ร้ายผู้อื่น

นรกขุมที่ 4: อู่กวนหวัง (五官王) ทำหน้าที่ลงโทษวิญญาณที่กระทำผิดเกี่ยวกับการใช้สารเสพติด

นรกขุมที่ 5: เหยียนหลัวหวัง (閻羅王) ทำหน้าที่ลงโทษวิญญาณที่อกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

นรกขุมที่ 6: เปี้ยนเฉิงหวัง (卞城王) ทำหน้าที่ลงโทษวิญญาณที่ประพฤติผิดในกาม

นรกขุมที่ 7: ไท่ซานหวัง (泰山王) ทำหน้าที่ลงโทษวิญญาณที่มั่วสุมเสพอบายมุข

นรกขุมที่ 8: ตูซื่อหวัง (都市王) ทำหน้าที่ลงโทษผู้ที่ชอบเข่นฆ่าผู้คน

นรกขุมที่ 9: ผิงเติ่งหวัง (平等王) โดยทั่วไปจะไม่ลงโทษใครเพราะเห็นว่าได้รับการลงโทษมามากพอแล้ว

นรกขุมที่ 10: จ่วนหลุนหวัง (轉輪王) ทำหน้าที่ตัดสินว่าดวงวิญญาณจะต้องชดใช้กรรมต่อหรือว่าให้ไปเกิดใหม่

นรกทั้ง 8 ขุมของไทยตามฉบับไตรภูมิพระร่วง  

นรกในความเชื่อของไทยนั้นมีความเกี่ยวโยงกับ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” วรรณกรรมปรัชญาศาสนาพุทธ เขียนขึ้นโดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไทย) ในสมัยสุโขทัย โดยเล่าเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องภพภูมิของมนุษย์ โดยแบ่งออกเป็น 3 ภพภูมิได้แก่ กามภูมิ 11 รูปภูมิ 16 และอรูปภูมิ 4 ซึ่งนรกภูมินั้นเป็นส่วนหนึ่งของกามภูมิ และสามารถแบ่งออกเป็น 8 ขุมหลัก ๆ ได้แก่

สัญชีวนรก: ผู้ที่ตกนรกขุมนี้จะถูกลงโทษจนตาย และมีลมพัดให้ฟื้นขึ้นมาชดใช้กรรมต่อไป

กาฬสุตตนรก:  มีไว้ลงโทษผู้ที่ทำร้ายผู้มีพระคุณหรือทำลายชีวิตสัตว์โลก

สังฆาฏนรก: มีไว้ลงโทษผู้ที่ชอบทารุณกรรมสัตว์ ไร้ซึ่งความเมตตา

โรรุวนรก: มีไว้ลงโทษเหล่าคนโลภ ฉ้อโกง จะโดนลงโทษจนเจียนตายแต่ไม่ตาย

มหาโรรุวนรก: มีไว้ลงโทษคนที่มีจิตใจโหดเหี้ยม อำมหิต มีจิตพยาบาทในการทำความชั่ว

ตาปนรก: มีไว้ลงโทษผู้ที่จิตใจเต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง และเห็นแก่ได้

มหาตาปนรก: มีไว้ลงโทษผู้ที่เข่าฆ่าสัตว์และคนเป็นจำนวนมาก ไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้อื่น

อเวจีนรก: มีไว้ลงโทษผู้ที่ทำกรรมหนักอันได้แก่ ฆ่าบุพการี ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต และยุยงคณะสงฆ์ให้แตกกัน

นรกฉบับตะวันตกของดันเต: The Divine Comedy

The Divine Comedy คือวรรณกรรมในยุคกลางซึ่งเกี่ยวกับการท่องภพภูมิต่าง ๆ โดยได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิค ภพภูมิตามฉบับของดันเต อาลีกิเอรี (Dante Alighieri) แบ่งออกเป็นสามภพภูมิได้แก่ นรก (Inferno) ดินแดนชำระบาป (Purgatory) และสวรรค์ (Paradise) ซึ่งจากวรรณกรรมของดันเต้นั้น นรกจะนั้นมีลักษณะเป็นทรงกรวยและแบ่งออกเป็นชั้น ๆ ยิ่งลึกลงไปเท่าไร การลงโทษก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นทั้งหมด 9 ชั้นดังนี้

Circle 1 Limbo (ขอบนรก): เป็นขุมนรกสำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้าเป็นคริสตศาสนิกชน ในชั้นนี้จะยังไม่มีการทรมานใด ๆ แต่ต่างก็สำนึกผิดในสิ่งที่ตนทำ

Circle 2 Lust (ราคะ): เป็นขุมนรกสำหรับผู้ที่มีความลุ่มหลงในกามตัณหาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์

Circle 3 Gluttony (ความตะกละ): เป็นขุมนรกสำหรับผู้ที่มีนิสัยตะกละตะกลาม 

Circle 4 Greed (โลภะ): เป็นขุมนรกสำหรับผู้ที่ขณะมีชีวิตมีนิสัยตระหรี่ถี่เหนียว และผู้ที่ขณะมีชีวิตมีนิสัยสุรุ่ยสุร่าย

Circle 5 Wrath (โทสะ): เป็นขุมนรกสำหรับผู้ที่มีนิสัยโมโหร้าย ไม่สามารถควบคุมโทสะของตัวเองได้

Circle 6 Heresy (การนอกรีต): เป็นขุมนรกสำหรับผู้ที่เพิกเฉยต่อคำสอนของคริสตศาสนา ขัดต่อขบนธรรมเนียมสังคม

Circle 7 Violence (ความรุนแรง): เป็นขุมนรกสำหรับผู้ที่คร่าชีวิตของผู้บริสุทธิ์และเอาทรัพย์สินของพวกเขามาเป็นของตน ผู้กระทำอัติวิบาตกรรม และท้าทายพระเจ้า

Circle 8 Fraud (การหลอกหลวง): เป็นขุมนรกสำหรับผู้ที่หลอกลวงหลากหลายประเภทเช่น คดโคง คอรัปชั่น ปลอมแปลงสิ่งของ โกหกหลอกลวง

Circle 9 Treachery (การทรยศ): เป็นขุมนรกสำหรับผู้ทรยศ ฉ้อราษฎร์บังหลวง อกตัญญู เป็นบาปที่ไม่สามารถให้อภัยได้

ถึงแม้ว่ามโนทัศน์เรื่องของนรกภูมิในแต่ละวัฒนธรรมจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน อย่างน้องที่สุดนรกภูมิเหล่านี้ก็ต้องการแสดงให้เห็นว่าการกระทำความชั่วนั้นจะต้องชดใช้กรรมที่ตนเองก่อเอาไว้ในนรก หรือหากสังเกตนรกในแต่ละวัฒนธรรมก็จะพบว่ามีการกระทำบางอย่างที่ไม่ว่าวัฒนธรรมไหนก็เห็นพ้องตรงกันว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี เช่น การอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และการเข่นฆ่าทำลายชีวิตของผู้อื่น

อ้างอิง :

บทความล่าสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top