หากกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ หรือที่ในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ผ่อสัก” (菩薩) หลายคนอาจคุ้นเคยกับเจ้าแม่กวนอิม หรือพระอวโลกิเตศวร (觀世音菩薩) มากกว่าองค์อื่น ๆ แต่นอกเหนือจากเจ้าแม่กวนอิมแล้ว ในพระพุทธศาสนานิกายมหายานนั้นยังมีพระโพธิสัตว์อีกหลายองค์ที่เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านที่เคยเข้าศาลเจ้าไหว้พระนั้นน่าจะเคยเห็นแน่นอน เพียงแต่อาจจะไม่คุ้นเคยกับพระนามของท่าน ในบทความนี้น่ำเอี๊ยงจึงขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับพระมหาโพธิสัตว์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 4 พระองค์ว่ามีใครบ้าง
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์: ผู้สดับฟังเสียงร่ำไห้คร่ำครวญของสัตว์โลก
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (觀世音菩薩) หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนามว่า พระโพธิสัตว์กวนอิม หรือ เจ้าแม่กวนอิม เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระอมิตาภพุทธ (阿彌陀佛) เดิมพระอวโลกิเตศวรเป็นผู้ชาย แต่เมื่อศาสนาพุทธเผยแพร่เข้าสู่ประเทศจีนและเข้าสู่ราชวงศ์ถัง (唐朝) ได้เกิดคตินิยมให้สร้างพระองค์ให้เป็นเพศหญิง และเรียกกันว่าพระโพธิสัตว์กวนอิมนั่นเอง
“我之所有一切善根,盡回向阿耨多羅三藐三菩提。願我行菩薩道時,若有眾生受諸苦惱、恐怖等事,退失正法,墮大暗處,憂愁孤窮、無有救護、無依無舍,若能念我、稱我名字,若其為我天耳所聞、天眼所見,是眾生等,若不得免斯苦惱者,我終不成阿耨多羅三藐三菩提。” ——《悲華經》
ความตอนหนึ่งจาก《悲華經》หรือ “กรุณาปุณฑรีกสูตร” หนึ่งในพระสูตรที่สำคัญของนิกายมหายาน ได้แสดงให้เห็นถึงความเมตตาอันเปี่ยมล้นของเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า “หากมีสัตว์โลกใดไม่พ้นทุกข์ เราก็ไม่ขอบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เจ้าแม่กวนอิมนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเมตตามาจนถึงปัจจุบัน
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิมต่อได้ที่บทความ ไหว้ขอพรเจ้าแม่กวนอิมปางต่าง ๆ พร้อมบทสวดบูชาเสริมความเมตตา
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์: ผู้เป็นตัวแทนแห่งปัญญาและความคิดอันปราดเปรื่อง
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ (文殊菩薩) หรือในภาษาจีนแต้จิ๋วอ่านว่า “บุ่งซู้ผ่อสัก” เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระศากยมุนี (釋迦牟尼) และทรงเป็นพระโพธิสัตว์แห่งปัญญา มีความเป็นเลิศด้านปัญญาความรู้เช่นเดียวกับพระสารีบุตร (舍利子) ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าตามหลักศาสนาพุทธเถรวาท
ลักษณะพุทธศิลป์ของพระองค์นั้นมีหลายรูปแบบตามแต่ความเชื่อของชนชาตินั้น สำหรับจีนแล้วพระองค์จะถือหยกหรูอี้ (如意) ไว้ข้างซ้าย ส่วนข้างขวาจะยกมือประทานพร เป็นการมอบความสุขสมหวัง บางรูปแบบจะถือกระบี่ไว้ข้างขวา สื่อถึงการมีปัญญาเป็นอาวุธ ส่วนมือซ้ายจะถือตำราเอาไว้ นอกจากนี้เรามักจะเห็นพระองค์นั่งประทับบนราชสีห์สีน้ำเงินหรือสีเขียว สื่อถึงความเป็นเลิศแห่งปัญญาและการแสดงธรรมโดยไม่หวาดกลัวต่อผู้ใด
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์: ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการกระทำความดี
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ (普賢菩薩) หรือในภาษาจีนแต้จิ๋วอ่านว่า “โผวเฮี้ยงผ่อสัก” เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระศากยมุนี ทำให้ในการสร้างงานประติมากรรมทางพระพุทธศาสนามหายาน มักจะสร้างให้เรียงกันเป็นองค์สาม อันเป็นสัญลักษณ์แห่งดินแดนสุขาวดี เรียกกันว่า “พระอริยะแห่งอวตังสกะ” (華嚴三聖)
ชาวจีนส่วนใหญ่นับถือท่านในฐานะผู้กระทำความดี บางคนก็มองว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์แห่งวิถีธรรม ทำให้เมื่อมีการสร้างพระพุทธองค์นั้น มักจะสร้างให้ร่างกายของท่านนั้นมีสีเหลืองทองอร่าม มือขวาถือก้านและใบบัว สื่อถึงการตื่นจากความหลง ส่วนมือซ้ายจะยกมือประทานพร นอกจากนี้ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของพระองค์คือ จะมีช้างเผือกหกงาเป็นพาหนะของท่าน อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ หรือในอีกมุมหนึ่งจะหมายถึงกิเลสอันยิ่งใหญ่ ซึ่งการที่พระองค์ประทับนั่งอยู่บนช้างนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าพระองค์นั้นสามารถควบคุมกิเลสได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง
พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์: ผู้โปรดสัตว์แห่งยมโลก
พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ (地藏菩薩) หรือในภาษาจีนแต้จิ๋วนิยมเรียกว่า “ตี่จั่งอ๊วง” เป็นหนึ่งในพระโพธิสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวจีน เป็นที่เคารพนับถือรองลงมาเพียงแค่พระโพธิสัตว์กวนอิมเท่านั้น
เหตุผลที่พระกษิติครรภ์พระโพธิสัตว์เป็นที่นับถือของชาวจีนนั้น มาจากเรื่องราวในพระสูตรปณิธานแห่งพระกษิติครรภโพธิสัตว์《地藏菩薩本願經》โดยพระองค์ตั้งปณิธานไว้ว่า 眾生度盡、方證菩提;地獄不空、誓不成佛 แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “หากยังมีสรรพสัตว์ต้องได้รับการช่วยเหลือ ก็จะยังไม่บรรลุโพธิญาณ หากนรกยังไม่ว่างเปล่า ก็จะไม่ขอบรรลุพุทธภูมิ” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระองค์กลายเป็นสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์ผู้มีมหาเมตตาแก่สัตว์นรกให้พ้นจากกรรม
อ้างอิง :
https://zh.wikipedia.org/wiki/%E8%A7%80%E4%B8%96%E9%9F%B3%E8%8F%A9%E8%96%A9
https://zh.wikipedia.org/zh-tw/%E5%9C%B0%E8%97%8F%E8%8F%A9%E8%90%A8
https://www.youtube.com/watch?v=kxQkWIZ5473
https://www.jinbodhi.org/cn/78265
https://www.sohu.com/a/271931383_100254273
จันทรวงศ์ไพศาล, ป. (2553). 108 สิ่งมิ่งมงคลจีน. ซีเอ็ดยูเคชั่น.