คนจีนถือเป็นชนชาติหนึ่งที่ให้ความสำคัญและใส่ใจกับการกินอาหารตามฤดูกาลเป็นอย่างมาก หลายท่านที่ศึกษาวัฒนธรรมจีนมาอาจทราบกันดีว่าชาวจีนโบราณนั้นแบ่งฤดูกาลออกเป็นทั้งหมด 24 ฤดู ซึ่งนอกจากอาหารตามฤดูกาลมักจะหาทานได้ง่ายในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ แล้ว ยังช่วยในการบำรุงร่างกายของเราให้แข็งแรงและทำให้พลังหยินหยางภายในร่างกายสมดุลอีกด้วย
สรุป 24 ฤดูกาลของจีนผ่านบทเพลงท่องจำเด็กประถมจีน
春雨驚春清穀天,夏滿芒夏暑相連
秋處露秋寒霜降,冬雪雪冬小大寒
每月两节不变更,最多相差一两天
上半年来六廿一,下半年来八廿三
บทเพลงที่เขียนขึ้นไว้ข้างต้นนี้มีชื่อว่า《傳統廿四節氣歌》แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เพลง 24 สารทดั้งเดิมของจีน” สำหรับความหมายของเพลงนั้น สามารถสรุปความหมายในแต่ละวรรคได้ดังต่อไปนี้
春雨驚春清穀天
ชุน-อวี่-จิง-ชุน-ชิง-กู่-เทียน
หมายถึง 6 สารทในฤดูใบไม้ผลิได้แก่ ลี่ชุน (立春) อวี๋สุ่ย (雨水) จิงเจ๋อ (驚蟄) ชุนเฟิน (春分) ชิงหมิง (清明) และกู๋อวี่ (穀雨)
夏滿芒夏暑相連
เซี่ย-หม่าน-หมาง-เซี่ย-สู่-เซียง-เหลียน
หมายถึง 6 สารทในฤดูร้อนได้แก่ ลี่เซี่ย (立夏) เสียวหม่าน (小滿) หมางจ้ง (芒種) เซี่ยจื้อ (夏至) เสียวสู่ (小暑) และต้าสู่ (大暑)
秋處露秋寒霜降
ชิว-ฉู่-ลู่-ชิว-หาน-ซวง-เจี้ยง
หมายถึง 6 สารทในฤดูใบไม้ร่วงได้แก่ ลี่ชิว (立秋) ฉูสู่ (處暑) ป๋ายลู่ (白露) ขิวเฟิน (秋分) หานลู่ (寒露) และซวงเจี้ยง (霜降)
冬雪雪冬小大寒
ตง-เสวี่ย-เสวี่ย-ตง-เสี่ยว-ต้า-หาน
หมายถึง 6 สารทในฤดูหนาวได้แก่ ลี่ตง (立秋) เสียวเสวี่ย (小雪) ต้าเสวี่ย (大雪) ตงจื้อ (冬至) เสี่ยวหาน (小寒) ต้าหาน (大寒)
ส่วนอีก 4 วรรคด้านล่างนั้นเป็นการบอกลักษณะของฤดูกาลจีนเมื่อเทียบกับปฏิทินสากลว่า ในแต่ละเดือนจะมีทั้งหมด 2 สารท ครึ่งปีแรก วันเปลี่ยนสารทมักตรงกับวันที่ 6 และ 21 ของแต่ละเดือน ส่วนครึ่งปีหลัง วันเปลี่ยนสารทมักตรงกับวันที่ 8 และ 23 ของแต่ละเดือน และวันเปลี่ยนสารทนั้นมักจะคลาดเคลื่อนก่อนหรือหลังไม่เกิน 1-2 วัน เช่น อาจจะตรงกับวันที่ 3-5 หรือ 7-9 แทน
การรับประทานอาหารตามฤดูกาลของคนจีน
ในด้านของแพทย์แผนจีนนั้นแบ่งอาหารออกเป็นสองรูปแบบได้แก่อาหารที่มีฤทธิ์เย็น (ให้พลังงานหยิน) และอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน (ให้พลังงานหยาง) ซึ่งในแต่ฤดูกาลนั้นจะมีผลต่อสมดุลหยินหยางในร่างกายที่แตกต่างกัน โดยพื้นฐานแล้ว ในช่วงที่อากาศร้อนซึ่งมีพลังงานหยางมาก ให้รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นเพื่อเสริมพลังงานหยิน และในช่วงที่อากาศเย็นซึ่งมีพลังงานหยินมาก ให้รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนเพื่อเสริมพลังงานหยาง เพราะถ้าหากร่างกายของเราหยินหยางไม่สมดุลจะทำให้ร่างกายของเรามีอาการป่วยได้
โดยเฉพาะในช่วงที่เรียกว่า 4 วันกาลกิณี (四離) ในที่นี้ได้แก่ ชุนเฟิน (春分) เซี่ยจื้อ (夏至) ชิวเฟิน (秋分) และตงจื้อ (冬至) จะเป็นวันที่หยินหยางไม่สมดุล จำเป็นต้องรับประทานอาหารที่ถูกต้องเพื่อเสริมพลังหยินหรือหยางให้สมดุล ในช่วงชุนเฟิน ควรเลือกอาหารตามสภาพร่างกายของตัวเองให้เหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป และไม่ทำให้พลังงานหยินหรือหยางเพิ่มหรือลดจนเกินไป ในช่วงเซี่ยจื้อ เป็นช่วงที่พลังงานหยางแข็งแรง และหลายคนอาจรู้สึกไม่เจริญอาหาร จึงควรที่จะรับประทานอาหารเบา ๆ และผักที่มีรสขม ในช่วงชิวเฟิน เป็นช่วงที่อากาศแห้งแล้งและเย็น จึงควรรับประทานอาหารที่มีความชุ่มชื้นและอุ่น เช่น งา วอลนัท ข้าวเหนียว ส่วนในช่วงตงจื้อ ควรรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์อุ่น สามารถรับประทานอาหารที่มีรสชาติเข้มข้นได้แต่ไม่ควรมากจนเกินไป
อ้างอิง :
https://www.hubei.gov.cn/jmct/jcwh/mygc/202211/t20221109_4396168.shtml