ทำความรู้จัก “ตั่งซาโหง่วเนี้ย”《陳三五娘》งิ้วขาประจำเทศกาลหง่วงเซียว

“ทานขนมหยวนเซียวคืนเดือนหงาย ทายปริศนาโคมลอย ปล่อยใจชมโคมไฟและแสงจันทร์ในยามราตรี”

หากพูดถึงเทศกาลหยวนเซียว (元宵節) แล้ว เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงธรรมเนียมประเพณีที่กล่าวไปข้างต้นเป็นอันดับแรก ๆ อย่างไรก็ตาม นอกจากสามสิ่งนี้แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน นอกจากนี้ยังได้รับการอนุมัติจากคณะมนตรีรัฐกิจของประเทศจีน (中華人民共和國國務院) ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติจีนอีกด้วย ซึ่งก็คืองิ้วเรื่อง “ตั่งซาโหง่วเนี้ย”《陳三五娘》จากคณะงิ้วลี่หยวน เมืองเฉวียนโจว (泉州梨園戲) 

เรื่องราวความรักระหว่างตั่งซาและโหง่วเนี้ย

“ตั่งซาโหง่วเนี้ย”《陳三五娘》หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ “หลี่เกี๊ยกี่”《荔鏡記》คือบทงิ้วที่เขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (明代) เรื่องราวมีอยู่ว่า ตั่งซา (陳三) ซึ่งเป็นบัณฑิตหนุ่มชาวเมืองเฉวียนโจว มณฑลฮกเกี้ยน (福建泉州人) กำลังจะส่งพี่ชายไปรับราชการที่เมืองกว่างหนาน (廣南) แต่ระหว่างทางได้ผ่านเมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง (廣東潮州) ซึ่ง ณ ขณะนั้นกำลังจัดเทศกาลหง่วงเซียวอยู่พอดี และในคืนเดือนหงายครั้งแรกของปีนั้นเอง ตั่งซาก็ได้บังเอิญพบกับโหง่วเนี้ย ลูกสาวของคหบดีผู้มั่งคั่งตระกูลอึ๊ง (黃五娘) และจุดเริ่มต้นความรักของทั้งสองก็ได้เริ่มต้นเนิดขึ้นโดยมีพระจันทร์และโคมไฟเป็นสักขีพยาน

แต่ฝ่ายบิดาของโหงวเนี้ยนั้นได้จัดแจงงานแต่งให้ลูกสาวของตนเป็นที่เรียบร้อย โดยให้แต่งงานกับเศรษฐีนามว่า “หลิ่มไต๋” (林大) โดยที่โหงวเนี้ยไม่เต็มใจ จึงได้แต่รู้สึกเศร้าใจทว่าไม่อาจทำอะไรได้ ตั่งซาจึงตัดสินใจกลับมาที่เมืองแต้จิ๋วอีกครั้ง และปลอมตัวเป็นช่างรับจ้างขัดกระจกเพื่อที่จะได้เข้าบ้านตระกูลอึ๊ง โหง่วเนี้ยต้องการที่จะเผยความในใจ จึงเอาลิ้นจี่ห่อผ้าเช็ดหน้าแล้วโยนลงไปให้ตั่งซา เมื่อตั่งซารู้ดังนั้นแล้วจึงแกล้งทำกระจกของตระกูลนางเอกแตก แล้วอ้างว่าไม่มีเงินชดใช้ จำต้องยอมขายตัวเองเป็นทาสรับใช้ของตระกูล เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้นางเอก ในเวลาต่อมา หลิ่มไต๋พยายามบังคับโหง่วเนี้ยให้แต่งงานกับตนให้ได้ แต่ด้วยความช่วยเหลือจาก “เอี๊ยงชุง” (益春) คนรับใช้ของตระกูลอึ๊ง จึงทำให้ตั่งซาและโหง่วเนี้ยสามารถหนีออกมาจากคฤหาสน์ได้และครองรักกันได้ในที่สุด

เกร็ดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงิ้วจีน 

งิ้ว (戲曲) หรืออุปรากรจีน เป็นการแสดงของจีนรูปแบบหนึ่งของจีน สามารถย้อนรอยไปได้ไกลถึงสมัยสามก๊ก แต่ว่าเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในสมัยจักรพรรดิถังไท่จง (唐太宗) แห่งราชวงศ์ถัง โดยพระองค์ได้สร้างโรงเรียนสอนอุปรากรจีนขึ้นมาโดยมีชื่อว่า ลี่หยวน (梨園) ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน อุปรากรจีนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปะประเพณีของชาติ ทั้งยังมีความเฟื่องฟูมากที่สุด ดั่งคำที่คนท่องจำกันว่า “唐诗、宋词、元曲、明清小说” หมายถึง กลอนต้องยุคถัง กาพย์ต้องยุคซ่ง เพลงละครต้องยุคหยวน ส่วนนิยายต้องยุคหมิงชิง”

งิ้วกับคนไทย

ช่วงเวลาที่งิ้วเข้ามาในประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่าเข้ามาในช่วงสมัยอยุธยา โดยมีหลักฐานจากบันทึกของเดอซัวซีย์ จากประเทศฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ นอกจากนี้ยังมีบันทึกของลาลูแบร์ที่ได้กล่าวถึงงิ้วเช่นเดียวกัน โดยกล่าวถึงงงิ้วในฐานะวัฒนธรรมชั้นสูง ถูกใช้ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานับตั้งแต่งิ้วเข้ามาในประเทศไทยนั้น มหรสพงิ้วนั้นมักเป็นการแสดงภายในราชสำนัก จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ที่วัฒนธรรมงิ้วเริ่มเป็นที่นิยมของประชาชนโดยมักมีการแสดงตามโรงบ่อนต่าง ๆ จนเมื่อโรงบ่อนถูกปิดตัวลง จึงเริ่มปรับตัวมาเล่นตามศาลเจ้าต่าง ๆ จนมาในปัจจุบันที่การแสดงงิ้วนั้นซบเซาลงเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้

งิ้วในสื่อจีนที่คนไทยคุ้นเคย

สำหรับคนไทยที่ไม่ใช่เชื้อสายจีนอาจคุ้นเคยกับงิ้วค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามทั้งละครภาพยนตร์จีน ก็มีการสอดแทรกวัฒนธรรมงิ้วเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสื่อด้วย ยกตัวอย่างเช่น

1. เปาบุ้นจิ้นตอน คดีประหารราชบุตรเขย – มีพื้นฐานมาจากงิ้วเรื่องประหารเฉินซื่อเหม่ย ซึ่งเป็นเรื่องราวของเฉินซื่อเหม่ย (陳世美) นักศึกษายากจนที่จากลาภรรยานามฉินเซียงเหลียน (秦香蓮) เพื่อสอบจอหงวน แต่พอสอบได้และจับพลัดจับพลูได้เป็นราชบุตรเขย ปิดบังราชสำนักว่าตอนมีลูกเมียแล้ว

2. Farewell My Concubine (1992) – หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ หลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม ภาพยนตร์จีนนำแสดงโดยเลสลี่ จาง มีละครงิ้วเรื่อง ปาอ๋องลาสนม (霸王別姬) เป็นตัวดำเนินเรื่อง ส่วนงิ้วดังกล่าวจะเล่าถึงตอนที่เซี่ยงอวี่ (項羽) หรือฌ้อปาอ๋อง (楚霸王) รบแพ้เล่าปัง (劉邦) และสนมอวี๋จีก็ได้รำกระบี่เชือดคอตายเพื่อไม่ให้เป็นตัวถ่วงของเซี่ยงอวี่

 

อ้างอิง :

https://baike.baidu.com/item/%E9%99%88%E4%B8%89%E4%BA%94%E5%A8%98/3576099#reference-7 

https://en.wikipedia.org/wiki/Tale_of_the_Lychee_Mirror 

https://learn-teochew.github.io/2021/06/29/teochew-literature-1-lychee-mirror.html 

https://web.facebook.com/groups/1499612546920005/posts/2266400836907835/?paipv=0&eav=AfYkPscPlrZ1ORRsb9tE3NAPAfpAQo01CTa3ehm5q_vcK34sJkj7p88keqmSbx7UTQA&_rdc=1&_rdr 

https://www.sohu.com/a/142752588_489797 

https://libap.nhu.edu.tw:8081/Ejournal/AA01360203.pdf 

http://www.czyzd.com/search?keyword=%e4%bc%98 

https://www.mogher.com/%E4%BC%98 

https://www.travelchinaguide.com/intro/arts/chinese-opera.htm 

https://www.historymuseum.ca/cantoneseopera/hist-e.shtml

บทความล่าสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top