เทศกาลตังโจ่ย (冬節) ของชาวจีนทางเหนือและชาวจีนทางใต้แตกต่างกันอย่างไร?

เทศกาลตังโจ่ย ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญมากทั้งสำหรับชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน เรียกได้ว่ามีความสำคัญไม่แพ้ช่วงเวลาตรุษจีนเลยทีเดียว เมื่อถึงเทศกาลนี้ ชาวจีนในแต่ละท้องถิ่นจะมีการเฉลิมฉลองที่แตกต่างกันออกไป สำหรับชาวไทยที่ศึกษาวัฒนธรรมจีนอาจจะคุ้นเคยกับการรับประทานขนมบัวลอย  ในช่วงเทศกาลดังกล่าว อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมที่เราคุ้นเคยกันนั้นเป็นของชาวจีนทางใต้ เช่น จีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง จีนแคะ ส่วนชาวจีนทางเหนือกลับไม่ได้ทานขนมบัวลอยในเทศกาลดังกล่าว

冬至 “ตังจี่” ไม่ใช่ชื่อเทศกาล

เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยเห็นคำว่า 冬至快樂 (สุขสันต์เทศกาลตังโจ่ย) กันมาบ้างแล้ว และอาจเข้าใจว่า 冬至 “ตังจี่” นั้นเป็นชื่อเทศกาล แท้จริงแล้วคำว่า 冬至 “ตังจี่” หมายถึงสารทลำดับที่ 22 จากทั้งหมด 24 สารทฤดู โดยวันแรกของสารทนี้มักตรงกับวันเหมายัน (Winter Solstice) ซึ่งเป็นวันที่ช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี หรือกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่าเป็นช่วงที่มีพลังงานหยินมากที่สุด และนับจากวันนี้เป็นต้นไปพลังงานหยางก็จะเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันครีษมายัน (Summer Solstice) หรือในภาษาจีนคือ 夏至 “แฮจี่” ส่วนเทศกาลไหว้ขนมบัวลอยนั้น หากต้องการเรียกให้ถูกต้องจริง ๆ จะต้องเรียกว่า 冬節 (อ่านว่า ตังโจ่ย) แปลว่าเทศกาลฤดูหนาว หรือเทศกาลไหว้ขนมบัวลอยนั่นเอง

ชาวจีนทางเหนือไม่ได้กินบัวลอยในเทศกาลตังโจ่ย

ชาวจีนทางใต้จะนิยมกินขนมบัวลอยกันในเทศกาลดังกล่าว เพราะชาวจีนเชื่อว่า ขนมบัวลอย (湯圓) คือตัวแทนของความสมบูรณ์ (圓滿) และตัวแทนของความสามัคคีกลมเกลียวกันภายในครอบครัว นอกจากนี้ การที่แต่ละครอบครัวได้รับประทานอาหารและขนมบัวลอยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดได้ยาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เทศกาลนี้มีความสำคัญและควรค่าแก่การเฉลิมฉลอง อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวจีนแต้จิ๋วและชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ อาจจะไม่ได้รับประทานบัวลอยในลักษณะที่เป็นก้อนกลม ๆ ไส้งาดำ แต่มักจะได้รับประทานเป็นขนมสาคูหรือที่ในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “อี๊” (丸) แทน ซึ่งก็มีลักษณะเป็นทรงกลมเช่นเดียวกับขนมบัวลอย

ในทางกลับกัน ชาวจีนทางตอนเหนือจะไม่ได้รับประทานขนมบัวลอยกันในเทศกาลนี้ แต่จะรับประทานเกี๊ยว (餃子) แทนเพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นในช่วงฤดูหนาวแล้ว ยังมีความเชื่อโบราณที่ว่าการรับประทานเกี๊ยวันนั้นจะช่วยให้หูของเราไม่โดนหิมะกัดได้ ซึ่งความเชื่อนี้มาจากตำนานหนึ่ง โดยมีหมอนามว่าจางจ้งจิ่ง (張仲景) ได้คิดค้นการทำเกี๊ยวขึ้นมาโดยนำแป้งมาห่อเนื้อแกะและใส่สมุนไพรลงไป นำไปต้มในน้ำแกงจนสุกและให้คนรับประทานเพื่อรักษาอาการหิมะกัด เนื่องจากเกี๊ยวมีรูปร่างหน้าตาเหมือนใบหูของคน จึงทำให้ตอนนั้นเรียกอาหารชนิดนี้ว่า 祛寒嬌耳湯 (แกงหูอ่อนขจัดหนาว) แต่ในเวลาต่อมาก็เปลี่ยนจาก 嬌耳 เป็น 餃子 ในที่สุด

อ้างอิง:

บทความล่าสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top