แนวคิดการมองโลกผ่านน้ำส้มสายชู (醋) ในลัทธิขงจื๊อ (儒家) ศาสนาพุทธ (佛家) และลัทธิเต๋า (道家)

“ชายสามคนกำลังยืนล้อมรอบถังน้ำส้มสายชูใบใหญ่ใบหนึ่ง ทั้งสามคนต่างก็ได้ลองลิ้มรสของน้ำส้มสายชู ทว่าทั้งสามคนต่างก็มีสีหน้าที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ความหมายของชายสามคนในภาพนั้นก็ได้กลายเป็นศาสดาของแต่ละลัทธิอันได้แก่ ขงจื๊อ (孔子) พระพุทธเจ้า (釋迦摩尼) และเล่าจื๊อ (老子) โดยที่ขงจื๊อคิดว่าน้ำส้มสายชูมีรสเปรี้ยว พระพุทธเจ้าคิดว่ามีรสขม ส่วนเล่าจื๊อกลับมองว่ามีรสหวาน”

ข้อความข้างต้นนี้เป็นคำบรรยายที่มีต่อภาพที่ชื่อว่า “นักชิมน้ำส้มสายชู” (The Vinegar Tasters, 三酸圖) ซึ่งเป็นจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงอย่างมากในด้านแนวคิดปรัชญาของจีน กล่าวคือการที่ศาสดาทั้งสามลิ้มรสน้ำส้มสายชูในถังใบเดียวกันแล้วได้รสชาติที่ต่างกัน แท้จริงแล้วภาพปริศนาธรรมนี้ ต้องการจะชี้ให้เห็นถึงการมองชีวิตและโลกที่ต่างกันผ่านปลายลิ้นของศาสดาทั้งสาม

รสชาติแห่งชีวิต

ขงจื๊อมองว่าชีวิตนั้นมีรสชาติออกเปรี้ยว กล่าวคือ โลกของเรานั้นไม่สมบูรณ์ ไม่มีความประสานกลมเกลียวกันระหว่างยุคสมัยอดีตกับปัจจุบัน การปกครองบนโลกมนุษย์นั้นก็ไม่สอดรับกับวิถีแห่งสวรรค์ จำเป็นต้องสร้างกฏเกณฑ์บางอย่างเพื่อให้วิถีของโลกนั้นสอดคล้องต้องตรงกันกับสวรรค์ซึ่งในที่นี้ก็คือหลักธรรมคำสอนของลัทธิขงจื๊อ โดยมีกษัตริย์ซึ่งถือเป็นโอรสสวรรค์นั้นเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกกับสวรรค์ ด้วยเหตุนี้ ลัทธิขงจื๊อจึงมีคำสอนและข้อปฏิบัติอันเคร่งครัดมากมาย ทั้งในแง่ของการปกครองบ้านเมืองด้วยคุณธรรม ประเพณีปฏิบัติต่าง ๆ และธรรมเนียมภายในราชสำนัก

พระพุทธเจ้าเห็นว่าชีวิตบนโลกนั้นมีรสขม กล่าวคือ โลกของเรา การเกิดมาบนโลก และสรรพสัตว์บนโลกนั้นช่างขมขื่น อีกทั้งยังเต็มไปด้วยความยึดติดและกิเลสตัณหา ซึ่งนำไปสู่ความทุกข์ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าในการทำให้สัตว์โลกทั้งปวงนั้นพ้นจากทุกข์ด้วยหลักความจริงอันประเสริฐหรือ “อริยสัจ” และมุ่งสู่จุดสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาซึ่งก็คือ “นิพพาน” 

ในขณะที่ขงจื๊อทำหน้าตาบูดบึ้ง พระพุทธเจ้าทำสีหน้าขมขื่น เล่าจื๊อกลับมีสีหน้าที่ยิ้มแย้ม และรู้สึกว่าน้ำส้มสายชูถังนี้นั้นมีรสชาติหวาน ที่เป็นเช่นนี้เพราะท่านมองว่าแท้จริงแล้ว โดยธรรมชาติโลกและสวรรค์นั้นมีความสอดคล้องกลมเกลียวกันอยู่แล้วตั้งแต่แรก มนุษย์นั้นสามารถพบเจอได้ทุกชั่วขณะจิต ไม่ได้พบเจอผ่านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดอย่างที่ลัทธิขงจื๊อกล่าวไว้ การเข้าไปแทรกแซงกฏเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นรังแต่จะสร้างปัญหาให้มากขึ้นกว่าเดิม

น้ำส้มสายชู ตัวแทนแห่งความไม่อภิรมณ์ในชีวิต

เบนจามิน ฮอฟฟ์ (Benjamin Hoff) นักเขียนชาวอเมริกัน ได้แสดงความเห็นและให้ข้อสังเกตที่มีต่อจิตรกรรมชิ้นนี้ผ่านหนังสือเรื่อง “เต๋าแบบหมีพูห์” (The Tao of Pooh) ซึ่งเป็นหนังสือที่ตัวเองเขียนเองไว้ว่า น้ำส้มสายชูนั้นแน่นอนว่าเป็นรสชาติแห่งชีวิตที่ไม่น่าเป็นที่พึงพอใจแน่นอน ดังที่ได้เห็นขงจื๊อและพระพุทธเจ้าแสดงสีหน้าเช่นนั้น แต่ลัทธิเต๋าเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติได้อย่างดี จึงทำให้สามารถมองสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นเชิงลบให้เป็นเชิงบวกได้ นอกจากนี้ในทรรศนะของลัทธิเต๋า รสชาติเปรี้ยวและขมนั้นเกิดจากจิตปรุงแต่งของเราเองที่เข้าไปแทรกแซง แต่เมื่อใดที่เราเข้าใจประโยชน์ของชีวิตในแบบที่มันควรจะเป็นแล้ว ชีวิตนั้นย่อมมีรสหวาน ซึ่งนี่แหละคือนัยยะที่ภาพ “นักชิมน้ำส้มสายชู” ต้องการจะสื่อ

อ้างอิง :

บทความล่าสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top