เทศกาลสงกรานต์ของไทยและของจีนต่างกันอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่าเทศกาลสงกรานต์ของไทยนั้นถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของชาติอันเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา องค์กรยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้ประเพณีสงกรานต์ของไทยเป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ” (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) อย่างไรก็ตาม ที่ประเทศจีนเองก็มี “เทศกาลสงกรานต์ในรูปแบบของตัวเอง” ซึ่งเรียกว่า “พัวสุยเจี๋ย” หรือเทศกาลสาดน้ำ

คำว่า “เทศกาลสงกรานต์” ในภาษาจีน

คำว่า “เทศกาลสงกรานต์” ในภาษาจีนคือ 宋干節 (ซ่งกานเจี๋ย) และ 潑水節 (พัวสุยเจี๋ย) ถึงแม้ว่าจะแปลเหมือนกัน แต่สิ่งที่อ้างถึงนั้นต่างกัน กล่าวคือ หากกล่าวถึงเทศกาลสงกรานต์ของไทย จะใช้คำว่า 宋干節 (ซ่งกานเจี๋ย) ในขณะที่คำว่า 潑水節 (พัวสุยเจี๋ย) จะหมายถึงเทศกาลสงกรานต์ของจีนชนเผ่าไต (傣族) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “เทศกาลสาดน้ำ” ซึ่งในบทความนี้จะขอเรียกเทศกาลสงกรานต์ของจีนว่า “เทศกาลสาดน้ำ” เพื่อแยกความแตกต่างออกจากเทศกาลสงกรานต์ของไทย

ทำความรู้จักเทศกาลสาดน้ำ

เทศกาลสาดน้ำ ถือเป็นเทศกาลปีใหม่ของชาวไต ตรงกับเดือน 6 ของปฏิทินไต (傣歷) หรือช่วงวันที่ 13-15 เมษายนของปฏิทินไทย เทศกาลดังกล่าวถือเป็นเทศกาลเก่าแก่ของชนเผ่าไตซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเมืองสิบสองปันนา (西雙版納) และเมืองเต๋อหง (德宏) มณฑลยูนนาน (雲南) อย่างไรก็ตาม ก็มีชนเผ่าอื่น ๆ ที่เฉลิมฉลองเทศกาลนี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าอาชาง (阿昌族) ปู้หลาง (布朗族) หว่า (佤族) เต๋ออ๋าง (德昂族) ฯลฯ

สำหรับช่วงเวลาในเทศกาลสาดน้ำของจีนนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 วันเช่นเดียวกับของไทย แต่อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปดังนี้

วันที่ 1 (ปกติตรงกับวันที่ 13 เมษายน) เรียกว่า “ม่ายญื่อ” (麦日) ในวันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านออกมาแสดงศิลปะพื้นบ้านและจัดงานรื่นเริง

วันที่ 2 (14 เมษายน) เรียกว่า “เน่าญื่อ” (恼日) ในภาษาไตเรียกว่า “วันเนา” ซึ่งคำว่า 恼 (เน่า) ในที่นี้หมายถึง 空 (คง) ที่แปลว่า “ว่าง” ตามธรรมเนียมแล้ววันนี้เปรียบเสมือน “วันว่าง” ที่คาบเกี่ยวระหว่างปีเก่าและปีใหม่ โดยทั่วไปชาวบ้านจะออกมาเล่นเทศกาลสาดน้ำวันนี้

วันที่ 3 (15 เมษายน) เรียกว่า “พ่าหว่านม่า” (พญาวัน, 叭网玛) ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างแท้จริงตามปฏิทินชาวไต ชาวบ้านในวันนี้จะนิยมเล่นการละเล่นที่เรียกว่า ช่วงชัยหรือโยนลูกช่วง (ซึ่งจะอธิบายอย่างละเอียดในหัวข้อถัดไป)

กิจกรรมในช่วงเทศกาลสาดน้ำ

ในช่วงเทศกาลสาดน้ำ การสาดน้ำของชาวไตนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราชาวไตมองว่าการสาดน้ำเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้าย อีกทั้งยังเป็นการมอบความรักและความปรารถนาดีให้แก่กัน นอกจากการสาดน้ำแล้ว ก็ยังมีประเพณีที่คล้ายคลึงกับสงกรานต์ของไทยได้แก่ การทำบุญ สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย และรดน้ำดำหัว ส่วนกิจกรรมในช่วงเทศกาลสาดน้ำที่แตกต่างออกไปจากสงกรานต์ของไทยนั้นก็มีอยู่ เช่น

1. แข่งเรือมังกร (賽龍舟) มักจะมีการทำกิจกรรมนี้ในวันที่ 3 หรือวันพญาวัน โดยชาวบ้านจะพากันไปยังแม่น้ำหลานชาง (瀾滄江) หรือแม่น้ำโขง โดยในระหว่างการแข่งขันนั้น เหล่าหนุ่มสาวจะจ้ำพายกันอย่างสุดฝีมือ ส่วนทางผู้ชมก็เป่าปี่ตีกลองเชียร์กันอย่างเต็มที่ 

2. จุดบั้งไฟ (放高升) ถือป็นกิจกรรมที่สำคัญมากในช่วงเทศกาลสาดน้ำ โดยจุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นอกจากนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อขอฝนและให้ผลผลิตการเกษตรออกมางอกงาม

3. ปล่อยโคมขงเบ้ง (放孔明燈) มีจุดประสงค์เพื่อการขอพรอธิษฐานเช่นเดียวกับยี่เป็งของคนไทย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าเป็นการรำลึกขงเบ้งในฐานะผู้ประดิษฐ์โคมลอยคนแรกอีกด้วย

4. ช่วงชัยหรือโยนลูกช่วง (丢包) ถือเป็นกิจกรรมที่นิยมมากในหมู่หนุ่มสาวชาวไต และอาจกล่าวได้ว่าโรแมนติกมากที่สุดในช่วงเทศกาลสาดน้ำ โดยฝ่ายหญิงจะเอา “ลูกช่วง” ซึ่งมีลักษณะเป็นผ้าหลากสีมาทำให้เป็นทรงกลมเหมือนดอกไม้ โยนให้ฝ่ายชายซึ่งอยู่ห่างออกไป หากฝ่ายชายรับไม่ได้ก็จะต้องนำดอกไม้มาเสียบที่มวยผมของฝ่ายหญิง แต่ถ้าหากฝ่ายหญิงรับไม่ได้ก็จะต้องนำดอกไม้มาติดที่อกเสื้อของฝ่ายชาย 

อ้างอิง :

บทความล่าสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top