แผนภูมิสวรรค์ เทียนกานตี้จือ (天干地支)

แผนภูมิสวรรค์ เทียนกานตี้จือ (天干地支)

คนจีนแบ่งโลกและจักรวาลออกเป็น 2 ส่วน ภาคสวรรค์และภาคผืนดิน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง 60 รูปแบบและวนกลับมารอบใหม่ทุกครั้ง สื่อถึงทุกสรรพสิ่งล้วนกลับสู่จุดเริ่มต้น ศาสตร์นี้มีประวัติยาวนานนับพันปี ฝังรากลึกและแฝงคติในพิธีกรรม ความเชื่อ วัฒนธรรม วรรณคดี ศิลปะ รวมถึงโหราศาสตร์จีนอย่างแนบแน่น

เทียนกาน หรือ ต้นฟ้า (天干)
มีทั้งหมด 10 ตัว ซึ่งแบ่งออกมาจาก 5 ธาตุ ไม้ ไฟ ดิน ทอง น้ำ ได้แก่

甲 กะ (ไม้หยาง)
乙 อิ๊ก (ไม้หยิน)
丙 เปี้ย (ไฟหยาง)
丁 เต็ง (ไฟหยิน)
戊 โบ่ว (ดินหยาง)
己 กี้ (ดินหยิน)
庚 แก (ทองหยาง)
辛 เซ็ง (ทองหยิน)
壬 หยิ่ม (น้ำหยาง)
癸 กุย (น้ำหยิน)


ตี้จือ หรือ กิ่งดิน (地支)
มีทั้งหมด 12 ตัว แทนด้วยสัตว์ประจำปีนักษัตร

子 จื้อ (ชวด)
丑 ทิ่ว (ฉลู)
寅 อิ๊ง (ขาล)
卯 เบ้า (เถาะ)
辰 ซิ้ง (มะโรง)
巳 จี๋ (มะเส็ง)
午 โง่ว (มะเมีย)
未 บี่ (มะแม)
申 ซิง (วอก)
酉 อิ้ว (ระกา)
戌 สุก (จอ)
亥 ไห (กุน)

นอกจากจะใช้บอกปีนักษัตรแล้ว ยังใช้บอกเดือนและเวลา (ชั่วยาม) โดยสามารถดูเทียบกับกงล้อเทียบยามในหน้าสุดท้ายของปฏิทินน่ำเอี๊ยงรายวันทุกเล่ม เพื่อดูฤกษ์มงคลคร่าว ๆ ประจำวันได้

เมื่อนำต้นฟ้า 10 ตัว มาประกอบกับกิ่งดิน 12 ตัว จะสามารถเรียงได้ 60 รูปแบบ โดยเรียงจาก 甲子 กะจื้อ →乙丑 อิ๊กทิ่ว…จนจบที่ 癸亥 กุยไห แล้วจึงเริ่มนับที่ 甲子 กะจื้อ อีกครั้ง โดยอักษรคู่ 60 รูปแบบนี้จะสลับวนเวียนเป็นคำทำนายประจำปี ประจำเดือน ประจำวัน จนครบรอบ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นตัวตั้งต้นการคำนวณดวงชะตาเฉพาะรายบุคคลในขั้นตอนต่อไป


ซินแสจะนำปี เดือน วัน และเวลาเกิด มาขึ้นดวงจะได้ตัวอักษร 8 ตัว เรียงกันเป็นแถวแนวตั้ง 4 แถว หลักปี หลักเดือน หลักวัน และหลักยาม เรียกว่า โป๊ยหยี่สี่เถียว (八字四柱) ซึ่งอักษร 8 ตัวจากแผนภูมิสวรรค์นี้จะมีธาตุ ไม้ ไฟ ดิน ทอง น้ำ (หลัก 5 ธาตุ) มาคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างธาตุว่าธาตุใดมีมากเกินไป น้อยเกินไป มีการส่งเสริมหรือพิฆาตกันหรือไม่ ประกอบกับปีนักษัตรดูความสัมพันธ์การชง (冲) การฮะ(合) ถือเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่ซินแสน่ำเอี๊ยงใช้เฟ้นหาฤกษ์มงคลในการประกอบกิจมงคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฤกษ์แต่งงาน ฤกษ์คลอดบุตร ฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ ฤกษ์เปิดร้านเปิดกิจการ ฯลฯ เพื่อให้ทุกท่านมั่นใจว่าฤกษ์ที่ได้รับไปนั้นเหมาะสมและส่งผลดีกับชีวิตของท่านมากที่สุด.

ขอบคุณข้อมูลจาก :
-ตำราน่ำเอี๊ยงกือสือ 南陽堂
-สัตว์มงคลจีน ประเพณีและความเชื่อจากอดีตถึงปัจจุบัน โดย ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์
-Chinese Auspicious Culture โดย Asiapac Books

บทความล่าสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top